<span style='font-size:14pt;line-height:100%'><span style='color:#FF0059'>ลอดช่องไทย (นกปล่อย) โดย... Thaifoodmaster</span></span>
ลอดช่องเป็นอาหารไทยโบราณ ซึ่งแต่ก่อนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นกปล่อย โดยชื่อขนมลอดช่องนี้ มาจากขั้นตอนในการทำขนม คือขั้นตอนการกดแป้งให้ออกจากพิมพ์ โดยตัวลอดช่องจะมีลักษณะเป็นเส้นๆ ยาวประมาณ ๒.๐ - ๒.๕ นิ้ว หรืออ้วนๆ สั้นๆ ขึ้นอยู่กับตัวพิมพ์ที่ใช้ในการกดแป้ง
ขนมลอดช่องมักจะนิยมที่จะทำในงานมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งตามหลักโบราณนั้น ขนมลอดช่องจะเสริฟพร้อมกับขนมอีกสามอย่าง ที่ตามประเพณีเรียกว่า กินสี่ถ้วย คือการทำขนมสี่อย่าง ได้แก่ ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ โดยขนมแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกันไป แต่ผมจะพูดถึงเฉพาะขนมลอดช่อง ซึ่งมีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวมีความรักยืนยาว เมื่อมีอุปสรรคใดๆ ก็ให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยดี
ขนมลอดช่องที่อร่อยนั้น ตัวลอดช่องจะต้องมีลักษณะเหนียว หนึบ หอมใบเตย และมีกลิ่นน้ำปูนใส ส่วนน้ำกะทิต้องคั้นจากมะพร้าวสดๆ และใช้น้ำน้อยในการคั้น ก็จะได้หัวกะทิที่สด มัน และหอม ส่วนน้ำตาลนั้นเราสามารถใช้น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บ ก็ได้
เคล็ดลับในการทำขนมลอดช่องนั้น มีอยู่สองอย่าง คือ
◊ ตัวแป้งต้องกวนให้สุก และเวลากดเป็นเส้นตัวแป้งต้องร้อน อย่าทิ้งให้แป้งเย็น
◊ น้ำกะทิให้ใช้มือละลายน้ำตาลให้เข้ากัน และไม่ต้องตั้งไฟ
ขั้นตอนการทำ นำปูนแดงผสมกับน้ำเปล่า ๕ ถ้วย
ทิ้งน้ำปูนข้ามคืน เพื่อให้ปูนตกตะกอนก่อน
ใบเตยหั่นหยาบๆ นำลงไปโขลกในครกให้ละเอียด และเติมน้ำเปล่า ๓/๔ ถ้วย
นำใบเตยที่โขลกได้ไปใส่ในผ้าขาวบาง
บีบเอาน้ำใบเตยออกให้ได้น้ำใบเตย ๓/๔ ถ้วย เสร็จแล้วพักเอาไว้
ขูดมะพร้าวสดๆ ให้ได้ประมาณ ๕ ถ้วย
ใช้มือนวดเนื้อมะพร้าวจนหัวกะทิเริ่มออกมา และเติมน้ำปูนใสประมาณ ๑ ถ้วยลงไป แล้วนวดต่อไป
ใส่มะพร้าวขูดที่นวดแล้วลงในผ้าขาวบาง จากนั้นบีบให้ได้หัวกะทิประมาณ ๒-๓ ถ้วย
นำหัวกะทิที่ได้มาผสมกับน้ำตาลมะพร้าว ในอัตราส่วนเท่าๆกัน จากนั้นให้เติมเกลือป่น ๑ ช้อนชาลงไป
ใช้มือผสมหัวกะทิและน้ำตาลมะพร้าวให้เข้ากันดี
จุดเทียนหอมแล้วใส่ลงในถ้วย โดยให้เอียงตัวเทียนประมาณ ๔๕ องศา เพื่อให้ตัวเทียนติดไฟได้ง่าย
นำถ้วยที่ใส่เทียนหอมวางลอยในถ้วยน้ำกะทิ แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ นาที เพื่อให้น้ำกะทิมีกลิ่นหอม เสร็จแล้วพักเอาไว้
ใส่แป้งข้าวเจ้า ๒ ถ้วยลงในกระทะทองเหลือง
เติมแป้งท้าวยายม่อมลงไป ๑/๒ ถ้วย
ใส่แป้งถั่วเขียว ๒ ช้อนโต๊ะ
ใช้มือนวดแป้งทั้งสามชนิดให้เข้ากันดี
เติมน้ำปูนใสลงไปนิดหน่อย
นวดแป้งต่อไปจนแป้งเริ่มจับตัวเป็นก้อน
เติมน้ำปูนใสลงไปอีกครั้งละนิดหน่อย
นวดแป้งต่อไปจนกว่าแป้งจะเหนียว
นวดแป้งต่อไปอีกประมาณ ๕ นาที
เติมน้ำปูนที่เหลือทั้งหมดลงไป และละลายให้เข้ากับแป้ง
นำกระทะตั้งไฟโดยใช้ไฟแรง
กวนแป้ง โดยให้กวนไปในทางเดียวกันจนแป้งเริ่มเหนียว
เบาไฟลง ใส่น้ำใบเตยลงไป ๓-๔ ถ้วย กวนให้เข้ากัน
กวนต่อไปเรื่อยๆ
หลังจากกวนไปประมาณ ๒๐ นาทีแล้ว แป้งจะเริ่มเงาขึ้น
เพื่อจะดูว่าแป้งสุกดีหรือยัง ให้ใช้ช้อนตักแป้ง แล้วใส่ลงไปในน้ำเย็น
ใช้มือจับแป้งดู ถ้าแป้งจับตัวดี และเหนียว แสดงว่าแป้งสุกแล้ว
นำแป้งที่กำลังร้อนๆ ใส่ลงในพิมพ์กด
กดแป้งเบาๆ จนแป้งหลุดออกจากช่องแล้วหล่นลงในน้ำเย็น
ทิ้งตัวลอดช่องในน้ำเย็นจนแข็งตัวดี
ตักใส่ถ้วย เติมน้ำกะทิ พร้อมใส่น้ำแข็งเย็นๆ ลงไปพร้อมเสริฟ