กระทู้นี้อาจจะยาวหน่อยนะคะ หลักๆ แล้ว ทางเราแค่ต้องการอยากจะขอความช่วยเหลือ ให้กับคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน ในการอนุรักษ์ช้างไทยให้มากดไลค์ที่เพจ "รวมใจปกป้องช้างไทย" หรือที่ <a href='http://www.facebook.com/pages/รวมใจปกป้องช้างไทย/214494575236206' target='_blank'>http://www.facebook.com/pages/รวมใจปกป้องช...214494575236206</a>
จุดประสงค์หลักๆ ของเรามีเพียงแค่อยากจะให้ทางภาครัฐมีการจัดการเกี่ยวกับปัญหาเรื่องช้างในกรุงเทพ ให้เด็ดขาด หรือมีมาตรฐานมากกว่านี้ค่ะ เราต้องการรวบรวมรายชื่อคนที่มีแนวคิดเดียวกัน และอยากรณรงค์ช่วนเหลือช้างไทย เพื่อที่จะนำไปเสนอให้มูลนิธิต่างๆ ค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ขณะนี้ได้มีมูลนิธิพร้อมที่จะช่วยทางเราโปรโมทในเรื่องนี้ และทางเราก็ได้เพียงแต่หวังว่าเมื่อมีสมาชิกมากพอ ทางรัฐอาจจะเห็นความสำคัญชองเรื่องนี้ และมีการจัดการกับเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
อย่างไรก็ขอรบกวนด้วยนะคะ
----------------------------------------------------------
โดย ไข่ในหิน
ยุงที่กำลังบินหนีจากมือของแม่ที่โบกสะบัด ทำให้ฉันนึกถึงเหตุการณ์ในตลาดตอนเช้า ที่เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น ต่างเข็นรถเข็นของตนเองวิ่งหนีเจ้าหน้าที่เทศกิจ
ฉันเคยเห็นคุณยายร้านขนมถ้วยต้องขอร้องให้เจ้าหน้าที่เทศกิจยกถ้วยกระเบื้องไปแทนขนมถ้วย เพื่อที่คุณยายจะได้นำเงินจากการขายขนมถ้วยไปเสียค่าปรับให้กับทางเทศบาลนครจังหวัด ซึ่งก็ทำให้ฉันอดคิดต่อไปอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ ซึ่งก็คือเหตุการณ์ที่คนเอาลูกช้างออกมาเดินอยู่ในเมือง
ในตอนแรกฉันพยายามที่จะต่อรองกับควาญช้างในการนำผลไม้ให้ช้างกิน แต่กลับถูกควาญช้างตอบกลับด้วยเสียงนิ่งๆว่า “ช้างกินกล้วยไม่ได้ เดี๋ยวท้องอืด” “ช้างยังเด็กห้ามกินเยอะ” คำตอบที่ได้รับทำให้ฉันเกิดคำถามมากมายขึ้นในใจ
“อ้อยที่คุณขายมันจะเน่าอยู่แล้วให้ช้างกินได้อย่างไร”
“ช้างกินไม่ได้หรือคุณจะไม่ได้กิน”
เพราะอาหารที่ควาญช้างเตรียมไว้ให้ช้าง คืออ้อยที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงจำนวน 4-5 แท่ง (แท่งอ้อยมีขนาดเท่ากับแท่งปากกา)
ฉันไม่ได้ต้องการคำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้นหรอก สิ่งที่ฉันต้องการคือหารเรียกร้องสิทธิให้แก่ช้าง ช้างไม่ควรที่จะต้องมาเดินบนถนน ในเมือง บนพื้นคอนกรีตร้อนๆ ที่เต็มไปด้วยท่อระบายน้ำ และไหล่ทาง เพื่อเลี้ยงควาญช้าง
จากช้างหนึ่งตัวเพิ่มมาเป็นช้าง 3 ตัวและควาญช้าง 8 คน ฉันไม่อยากเห็นการทารุณช้างแบบนี้และไม่ต้องการสนับสนุนการทารุณดังกล่าว
ฉันพยายามติดต่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากติดวันหยุดราชการ จึงยังไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือช้างได้
จนกระทั่งครั้งล่าสุด ภาพที่ฉันเห็นคือ ช้างดูดน้ำจากกระป๋องน้ำล้างจาน และราดตัวเพื่อให้คลายร้อน เจ้าของร้านเห็นใจ หยิบแตงกวายื่นส่งให้ช้าง ช้างรับใส่ปากโดยไวก่อนที่จะถูกควาญเอาตะขอเกี่ยวกระแทกที่ข้างหูพร้อมกับกระชากให้ช้างถอยกลับออกมา
ภาพนั้นทำให้ฉันตัดสินใจแจ้งกับศูนย์บริการประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบกับฉันเพียงว่า “ผมทำได้เพียงแต่ตักเตือนและไล่ให้ออกไป ในส่วนการจับกุมคงต้องยื่นเรื่องเข้ากับทางจังหวัดก่อน”
นอกจากนี้ฉันยังแจ้งเรื่องไปทางสายด่วนร้องเรียนการทารุณ ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ “ต้องแจ้งกับทางมูลนิธิเพื่อนช้างครับ หรือไม่ก็ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ว่าเขามีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรครับ”
คำตอบที่่ฉันได้รับทำให้ฉันตระหนักได้ว่า สังคมในปัจจุบันเห็นความสำคัญของช้างลดลงไปมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่ช้างอาจจะได้รับ รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่ช้าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง อาจจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
“ใกล้เกลือ กินด่าง” สุภาษิตนี้คงทำให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช้างเป็นสัตว์ที่สามารถหาดูได้ง่ายในประเทศ แม้แต่นั่งอยู่ร้านอาหารตามสั่งข้างทางก็ยังสามารถเห็นได้ ต่างจากหมีแพนด้าหรือหมีขั้วโลกที่คนต้องพยายามดั้นด้นเพื่อที่จะไปสัมผัส แม้จะต้องฝืนธรรมชาติของสัตว์ดังกล่าวก็ตาม หากลองพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนกันสักนิด ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนคือตัวแปรสำคัญในการผลักดันความเป็นอยู่ในรูปแบบต่างๆให้กับสัตว์เหล่านี้ ยอมทุ่มงบจำนวนมากในการเสกสรรค์สถานที่ สภาพอากาศให้ใกล้เคียงกับของจริงเพื่อที่จะได้เชยชมสัตว์หายาก มีการวางแผนงบประมาณนับล้านเพื่อดูแลสัตว์จากต่างเมือง แต่กลับละเลยช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัว และกำลังได้รับความเดือดร้อน จากการทารุณกรรม ไม่มีใครตระหนักเลยว่า การเพิกเฉยต่อการทารุณช้าง และการนำช้างมาเร่ร่อนนั้นอาจส่งผลให้ช้างสูญพันธุ์ได้
“ช้างเร่ร่อน” เป็นกระบวนการนำโดยนายทุนผู้มีอำนาจ ให้เงินสนับสนุนการล่าลูกช้างป่า ด้วยจุดประสงค์หลักคือเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจของตน ผลประโยชน์นี้รวมไปถึงการปล่อยช้างให้ควาญช้างเช่าเพื่อหาเลี้ยงชีพ ซึ่งแน่นอนว่านายทุนเหล่านั้น ต้องได้รับผลตอบแทนไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ควาญช้างผู้เช่าจะต้องพาช้างเดินเร่ร่อนไปตามชุมชนต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชนนั้นเป็นจำนวนมาก และขายอาหารเช่น กล้วย หรืออ้อย โดยผู้คนจ่ายเงินจำนวนนึงเพื่อซื้ออาหารเหล่านั้น แล้วนำมาป้อนช้าง
วิถีชีวิตของช้างเร่ร่อนไม่ต่างอะไรกับการเดินอยู่บนเส้นเชือก ซึ่งพิจารณาได้ 2 นัยยะ โดยนัยยะแรกหมายถึงชีวิตช้างเร่ร่อนในเมืองนั้น มีความเสี่ยงต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากท้องถนน ความปลอดภัย การปรับสภาพของช้างให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม รวมไปถึงอาหารการกินของช้าง ซึ่งสิ่งที่ช้างต้องเผชิญนั้นไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ช้างมีมีเพียงอย่างเดียวคือ “ควาญ” ซึ่งนำไปสู่นัยยะที่สอง คือควาญจะเป็นผู้กำหนดว่าช้างจะต้องเดินไปที่ไหน เมื่อใด และควรแสดงพฤติกรรมอย่างไรให้คนที่พบเห็นรักและเอ็นดู เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะยอมสละเศษเงิน 20 บาทแลกกับการให้อาหารช้างอย่างใกล้ชิด และหากว่าช้างไม่ทำตามที่ควาญต้องการก็จะถูกทำโทษด้วยตะขอที่อยู่ในมือของควาญ
ช้างจะต้องกินอาหารประมาณประมาณ 6-12% ต่อวัน หากช้างเชือกนั้นน้ำหนักประมาณ 3 ตัน ก็จะกินอาหารประมาณ 180-360 กิโลกรัม แต่สำหรับอาหารที่ควาญช้างเร่ร่อนจัดเตรียมไว้สำหรับช้าง คือ เศษผลไม้เพียงน้อยนิดที่ช้างจะต้องเดินตากแดดบนพื้นคอนกรีต เพื่อหาใครซักคนที่พอจะบริจาคเศษเงินช่วยให้ช้างได้ดับกระหาย
กระบวนการกลายเป็น “ช้างเร่ร่อน” ช้างจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากจากเดิมที่เคยเป็นสัตว์ป่า อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเดินบนพื้นดิน พื้นหญ้าในป่าแม้จะร้อนแค่ไหนแต่ยังคงมีร่มไม้จากต้นไม้ใหญ่และธารน้ำช่วยคลายร้อน มีบรรดาช้างน้อยใหญ่รายล้อม แต่ต้องกลายมาเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้กับเหล่าควาญช้าง ซึ่งไม่ต่างอะไรจากขอทาน เพียงแต่เอาสัตว์มาบังหน้าเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากคนในชุมชนนั้นๆ
การนำช้างที่เป็นทั้งสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า โดยส่วนใหญ่ช้างที่ถูกนำมาเร่ร่อนในเมืองนั้นคือลูกช้าง เพราะขนาดตัวไม่ใหญ่มากนักการเคลื่อนย้ายจะสะดวกกว่าช้างที่โตแล้ว ช้างที่เดินในสภาวะแวดล้อมของความเป็นเมือง พื้นถนนคอนกรีตที่ร้อนระอุ ร่มเงาของตึกไม่ได้ช่วยให้ช้างคลายร้อนได้เหมือนกับเงาของร่มไม้ ลำคลองที่มีทั้งเศษอาหารและขยะช่วยให้ช้างได้ดับกระหายคลายร้อนได้ขณะหนึ่ง เพราะเป็นแหล่งน้ำเดียวที่ช้างสามารถเข้าถึงได้ แต่ถ้าหากตระหนักถึงความสะอาดหรือสภาพแวดล้อมที่ช้างกำลังเผชิญอยู่ไม่ต่างอะไรกับการที่ช้างต้องมาตายแบบผ่อนส่งเพื่อเลี้ยงให้คนอยู่รอดเลย
“ช้างเร่ร่อน” ยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคม แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่การช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังคงต้องอาศัย ภาครัฐในการช่วยพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายบางประการที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การแก้ไขในระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองช้างให้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่ง และได้รับการดูแลตามความเหมาะสม
ขอแรงใจให้ช่วยกันสนับสนุนการอนุรักษ์ช้าง อย่ารอให้ถึงวันที่ชีวิตของช้างต้องหยุดนิ่ง สูญพันธุ์ และกลายเป็นเพียงปูนปั้นยืนตระหง่านหน้าพิพิธภัณฑ์ โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป