ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาต่อเนื่องหลายเดือน สังคมเกิดความแตกแยกทางความคิดเป็น 2 ฝ่าย แม้จะมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้น แต่ก็เกิดปมปัญหาขึ้นใหม่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะได้ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน อาจเป็นปัญหาข้อกฎหมายทำให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ส่งผลให้สภาพการเมืองชะงักงันนั้น
<span style='color:blue'>“ในหลวง” พระราชทานพระราชดำรัส</span>
เมื่อเวลา 17.42 น. วันที่ 25 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน 4 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โอกาสนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัส แก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ความตอนหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้อาจมองหน้าที่ของศาลปกครองมีขอบข่ายไม่กว้างขวาง ความจริงกว้างขวาง แต่เวลานี้ถ้าจะให้พูด ศาลเองมีสิทธิที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 เลือกตั้งอยู่คน เดียว ซึ่งมีความสำคัญ เพราะในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า ความจริงน่าจะเกี่ยวข้อง เพราะถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งพอ การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ดำเนินการไม่ได้ แล้วที่ท่านปฏิญาณว่าจะทำงานเพื่อประชาธิปไตยก็ทำงานไม่ได้ท่านก็อาจต้องลาออก โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่มีต้องหาทางแก้ไขให้ได้ อาจไปปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ใช่เรื่อง บอกว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วไม่เกี่ยวข้อง เลยขอร้องท่านอย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้
<span style='color:blue'>ทรงแนะศาลปกครองช่วยผ่าทางตัน</span>
อีกข้อหนึ่ง ที่บอกมีการยุบสภาแล้วต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่พูดก็ต้องแก้ไขว่าจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรืออะไร ซึ่งท่านมีสิทธิจะบอกว่าอะไรที่ควร ไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ดี แต่เท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ว่าการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยจะมีพรรคเดียวคนเดียว มีคนสมัครเลือกตั้งคนเดียว มันไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านต้องดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครองให้ดี อย่างดีที่สุดที่จะทำได้คือท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก รับหน้าที่ไม่ได้ ที่ปฏิญาณไปทบทวนให้ดี
<span style='color:blue'>ถ้าไม่มีสภาฯก็ไร้ประชาธิปไตย</span>
ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีนบพิตำ กรณีที่ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่แห่งเดียวที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ ขอให้ท่านไปศึกษาความเกี่ยวข้องว่าท่านเกี่ยวข้องในจุดไหน ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ขอให้ท่านลาออกดีกว่า ท่านผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองเราไปได้ มิเช่นนั้นก็ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ก็มีหลายคนที่มีความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริต ภักดีในหน้าที่ ทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป ฉะนั้นก็ขอฝาก จะขอบใจมาก เรื่องนี้ยุ่ง ถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีสถาบันมากมาย มีสภาหลายแบบ ทุกแบบต้องเข้ากัน ปรองดองกัน ต้องคิดหาทางแก้ไข
<span style='color:blue'>ไม่ใช่ ม.7 ตั้งนายกฯพระราชทาน</span>
ที่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ขอร้อง มิฉะนั้นเขาก็บอกมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์มีอำนาจทำอะไรตามชอบใจ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้กษัตริย์ทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ ก็ถือว่าทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่อ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ในรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้มีการทำโดยอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา สภามีประธานสภา รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ตอนนั้นก็ไม่ใช่นายกฯ พระราชทาน นายกฯพระราชทาน หมายความว่าตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ รองประธานสภานิติบัญญัติ เพราะงั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์มาใหม่ ท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วงานอื่นๆก็มี แม้ จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ ก็สบายใจว่าทำอะไรที่ถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้เขาจะให้ ทำอะไรที่ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด ฉะนั้นขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้ บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และมีความเจริญรุ่งเรืองได้
<span style='color:blue'>ทรงชี้มาตรา 7 ถูกอ้างแบบมั่ว</span>
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ความตอนหนึ่งว่า เมื่อก่อนนี้มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่าง เรื่องนี้ก็ต้องให้ดำเนินการไป ศาลจะเป็นผู้ทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมากที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 ว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี ตามที่ควรทำไป ไม่มี เขาอยากจะได้นายกฯพระราชทานกัน ขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่เป็นเรื่องของนายกฯ ที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ แบบมั่ว คือแบบไม่มีเหตุมีผล
<span style='color:blue'>อย่าโยนปัญหาให้พระมหากษัตริย์</span>
การที่ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่จะใส่ สามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือปกครองต้องมีสภาให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ไม่ได้ อาจจะหาวิธีที่จะทำสภาที่มีครบถ้วนและทำงาน ก็รู้สึกว่ามั่ว ไม่ทราบใครจะทำมั่ว ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ คิดอะไรแบบทำปัดๆไป ให้มันเสร็จๆไป ถ้าไม่ได้เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่ว ต้องขอร้องให้ศาลคิด เดี๋ยวนี้ประชาชนประชาธิปไตยเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกาที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผล ท่านมีความรู้ ท่านได้เรียนรู้ กฎหมายมาก และพิจารณากฎหมายที่ศึกษาดีๆ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักการปกครองประเทศชาติไปไม่รอด อย่างที่บอกว่าไม่มีสภา สมาชิกสภา 500 คน ทำงานไม่ได้ ก็ต้องเป็นปัญหา จะทำอย่างไรให้ทำงานได้ อย่ามาขอให้ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน เพราะอาจจะว่าต้องเดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา 7 นั้น ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดู มาตรา 7 เขียนว่าไม่มีในบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์มาสั่งการได้ และขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่ขอให้มีพระราชทานนายกฯ ไม่เคยมีข้อนี้ มีคนบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำตามใจชอบ มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำตามใจชอบก็คง บ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจ ถ้าเขาให้ทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ
<span style='color:blue'>แนะ 3 ศาลหารือก่อนบ้านเมืองล่มจม</span>
ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญ เรามีศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไร ไม่มีความข้อที่จะสำคัญมากกว่าศาลฎีกา ที่จะมีสิทธิ ที่จะตัดสิน ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้เอาไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษา ศาลอะไรก็ดี ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร และต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม กรณีญี่ปุ่นที่มีเรือโดนพายุจมลงไป 4,000 เมตรในทะเล เมืองไทยจะจมลงไปลึกกว่า 4,000 เมตร แล้วกู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านเองก็จะต้องจมลงไปในมหาสมุทร เวลานี้เป็นเวลาที่วิกฤติที่สุดในโลก ฉะนั้น ท่านก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้เพื่อที่จะ เขาเรียกกู้ชาติ เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้ชาติ กู้ชาติ ทีนี้มันยังไม่ได้จม เรียกว่าป้องกันไม่ให้จมลงไป ดังนั้น เราจะต้องกู้ชาติ แต่ถ้าจมแล้วก็กู้ชาติไม่ได้ ฉะนั้นก็ไปพิจารณาดูให้ดี