หน้า 1 จากทั้งหมด 1

โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.พ. 02, 2007 10:49 pm
โดย fanta1973
ฝีมือ"แกะสลัก"นำโชค เบิกทางสาวลูกชาวนาเรียนนอก



จากเด็กหญิงลูกชาวนาที่มีชุดนักเรียนใส่ไปเรียนแค่ชุดเดียว ครอบครัวยากจนข้นแค้นมีเงินส่งเสียให้เรียนแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ ณ วันนี้ ปาริฉัตร พงษ์คละ หญิงสาวร่างเล็กชาวศรีสะเกษ โบกโบยบินไกลถึงเมืองนอกเมืองนา ได้ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เซซ่า ริส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้เข้าศึกษาระดับปริญญาโท ในคณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว

ดูแล้ว...อาจรู้สึกเฉยๆ เพราะมีตัวอย่างเด็กยากจนที่เรียนดีได้ทุนไปเรียนเมืองนอกให้เห็นเยอะแยะไป ปาริฉัตรก็เช่นกัน เธอจบปริญญาตรี คณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.8

แต่...เกรดเฉลี่ยกลับไม่ใช่ "ใบเบิกทาง" อนาคตอันสดใส หากแต่เป็นความสามารถด้าน "งานฝีมือแบบไทยๆ" ที่ปูเส้นทางกุหลาบให้เธอ และสิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สุดคือ "การแกะสลัก" เพราะนอกจากจะเป็นใบเบิกทางให้แล้ว ยังเป็น "อาชีพพิเศษ" ที่สาวคนนี้ใช้เลี้ยงปากท้อง ขณะใช้ชีวิตในแดนไกลอีกด้วย

"จูน" ปาริฉัตร วัย 27 ปี เริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบว่า เรียนจบมัธยมปลายสายคหกรรมบริการ จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 29 จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เช่น พ่อแม่ฐานะยากจน เด็กติดเชื้อเอดส์ เด็กกำพร้า ได้มีโอกาสเรียนหนังสือฟรี ซึ่งหลักสูตรในโรงเรียนจะเน้นวิชาชีพเป็นหลัก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนที่เรียนจบจากที่นี่มีอาชีพติดตัว และนำวิชาชีพที่เรียนไปเลี้ยงตัวเองในทางที่สุจริต

"โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ ให้อะไรมากกว่าความรู้ในหนังสือ ทำให้นักเรียนรู้จักชีวิตทุกด้าน หลังจากที่เรียนจบจากที่นี่ รู้เลยว่าถ้าออกไปใช้ชีวิตในสังคมข้างนอกเราสามารถเอาตัวรอดและช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะขณะเรียน ครูสอนให้ฝึกอาชีพ ที่มีทั้งแกะสลัก ทำขนม สอนงานประดิษฐ์ ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทุกเสาร์-อาทิตย์ ครูจะให้นำของที่ผลิตได้ไปขายตลาดหมู่บ้านใกล้ๆ ส่วนผักสวนครัว หรือข้าว เมื่อผลิดอกออกผลนักเรียนจะเก็บไปขายให้โรงเรียนเพื่อนำไปทำเป็นอาหารให้นักเรียนรับประทาน ส่วนเงินที่ได้จากการขายของนักเรียนจะนำมาเป็นค่าขนม นักเรียนทุกคนที่นี่จะมีเงินเก็บกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความขยันทำงาน"

ด้วยคุณสมบัติตามมาตรฐาน "เรียนดีแต่ยากจน" หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย ลูกชาวนาคนนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทุนการศึกษาให้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์ โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ สนับสนุนเงินค่ากิน-อยู่ให้ใช้ปีละ 15,000 บาท ซึ่งการดำรงชีวิตในเมืองศิวิไลซ์อย่างกรุงเทพฯ เงินเดือนละประมาณพันกว่าบาทไม่พอแม้กระทั่งค่ารถเมล์ จูนจึงตัดสินใจทำงานพิเศษด้วยการเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดในตอนกลางวันได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 20 บาท และเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหารในตอนกลางคืนค่าจ้างคืนละ 150 บาท ตลอด 4 ปีจูนทำงานหนักควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ เวลาที่เพื่อนนอน เธอนั่งอ่านหนังสือ เวลาที่เพื่อนเที่ยวเธอยืนขาแข็งเสริฟอาหาร

แล้วหยาดเหงื่อทุกหยดที่เสียไปก็ตอบแทนเธออย่างคุ้มค่า จูนปิดฉากการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยการคว้าตำแหน่งเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองอย่างสมภาคภูมิ

จากความเก่งที่มีเป็นทุนเดิม ประกอบกับความสามารถด้านงานฝีมือ และวัฒนธรรมไทย หลังจากที่ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่วิทยาลัยดุสิตธานีได้ 3 ปี สาวคนนี้ก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเซซ่า ริส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เหตุผลที่เธอได้ทุนนี้เพราะขณะนั้นมหาวิทยาลัยกำลังต้องการนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติ ที่มีความสามารถด้านวัฒนธรรมไปเผยแพร่

"ไม่เคยคิดว่าความสามารถทางงานฝีมือที่เรียนมาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 29 จ.ศรีสะเกษ จะผลักดันชีวิตให้มาไกลได้ขนาดนี้ จากตอนแรกรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่ได้เรียนต่อมัธยมปลายสายคณิต-วิทย์ เพราะโรงเรียนเปิดสอนแต่สายอาชีพ ซึ่งสายอาชีพที่เรียนก็เป็นวิชาที่ตลาดแรงงานไม่ให้ความสำคัญ ไม่คิดเลยว่าสุดท้ายจะกลายมาเป็นเสน่ห์และจุดเด่นสร้างโอกาสที่ดีมากๆ ให้กับชีวิต"

วันนี้จูนเป็นกำลังเรียนเทอมสุดท้ายในระดับปริญญาโท สาขาบริหารการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกจากเธอจะโดดเด่นในเรื่องเรียนสร้างความแปลกใจให้ชาวสวิสแล้ว จูนยังมีโอกาสโชว์ฝีมือ "แกะสลัก" ให้กับนักศึกษาต่างชาติชมหลายครั้ง จนฝีมือเข้าตาเจ้าของโรมแรมแอมบาสซาเดอร์ โรงแรมระดับ 4 ดาว เธอจึงมีงานพิเศษทำโดยที่ไม่ต้องเดินหาให้ลำบาก และด้วยความสามารถรอบด้าน นอกจากแกะสลักผักผลไม้ในงานเทศกาลต่างๆ ได้ค่าตอบแทนวันละ 7,000 บาทแล้ว "รำไทย" ก็เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้กับเธอได้อีกอย่างหนึ่ง ไม่หมดเท่านี้ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ร้านอาหารไทยที่นู่นก็เชิญเธอไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนแกะสลัก และขนมไทยจำพวกห่อใบตองให้แก่แม่ครัวอีกด้วย สอน 3 ชั่วโมงได้ค่าแรง 600 บาท

"ใครจะคิดว่าเด็กลูกชาวนาอย่างจูนจะได้ไปไกลถึงต่างแดน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระเมตตาสร้างโรงเรียนให้เด็กด้อยโอกาสอย่างจูนได้เรียนหนังสือ ถ้าไม่มีพระองค์และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ลูกชาวนาคนนี้คงจบแค่ ม.3 และกลายเป็นสาวโรงงานที่ทำงานไปวันๆ"

สำหรับคนที่ตั้งใจจริง ไม่ว่าจะมีความสามารถอะไร ความสามารถนั้นก็สามารถเป็นใบเบิกทางอนาคตที่สดใสได้ เพราะตัวอย่างจากสาวคนนี้เป็นแบบอย่างให้เห็นแล้ว

หน้า 36

<a href='http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php' target='_blank'>http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php</a>

โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.พ. 03, 2007 1:34 am
โดย Amelia
ดีใจ และภูมิใจแทนคนไทยอีกแล้วค่ะ ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆมาเผยแพร่นะคะ แบบนี้ค่ะสมควรยกย่อง และเผยแพร่กัน

โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร ก.พ. 06, 2007 12:07 am
โดย Sunisa
ดีใจทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องราวดี ดีแบบนี้

โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 26, 2007 9:27 am
โดย ณัชชา
เก่งจังค่ะ ได้ยินแล้วชื่นใจ ทำให้ตัวเองมีกำลังใจขึ้นเยอะเลย ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่นะคะ

โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 02, 2007 11:39 am
โดย Sweetcapucino
อ่านแล้วก็ภูมิใจฝีมือของคนไทยนะคะ มีความตั้งใจ อดทน ก็ไม่อดตายเน๊อะ แกะสลักนี่ยกให้ไทยเลยค่ะ

โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. เม.ย. 05, 2007 9:33 am
โดย ร้านหนังสือนกน้อย
ฮืม,,น่าภูมิใจจริงๆ,,คนบ้านเดียวกันเลย,,ทำไมฝีมือถึงได้ห่างกันแบบนี้,,เหอๆๆๆ

โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 16, 2007 2:19 am
โดย bakerkitchen
อ่านแล้วน้ำตาคลอเลยค่ะ ไม่ได้โอเวอร์ แต่ลูกชาวนาเหมือนกัน แถมคุณจูนทำให้ป้อม
นึกถึงอดีต สมัยเรียนก็เคยทำงานเสริฟเหมือนกันค่ะ เรียนบัญชีครึ่งเช้า บ่ายไปทำงาน
บริษัทรับทำบัญชี เย็นกลับที่พักทำการบ้าน เสร็จไปทำงานเสริฟต่อกว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนตีหนึ่งทุกวัน สุดท้ายก็รับปริญญากับสมเด็จพระเทพฯ ได้สมใจ

ภูมิใจกับคุณจูนด้วยค่ะ