หลายท่านอาจสงสัยว่าผู้ชายวัยทองมีอาการเหมือน หรือแตกต่างจากผู้หญิงวัยทอง หรือไม่อย่างไร ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยให้ความสนใจกับช่วงอายุที่เรียกกันว่า "วัยทอง" มากขึ้น เนื่องมาจากมีผลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่เผยแพร่มากขึ้น และการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้องได้รับการยอมรับในผลการศึกษา โดยในช่วงแรกมักมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีฮอร์โมนเป็นตัวกำหนดความเป็นหนุ่มสาวในร่างกายเช่นเดียวกัน และมีวันเสื่อมถอยเช่นเดียวกัน แต่ผู้หญิงจะชัดเจนกว่า เพราะการหมดประจำเดือนเป็นตัวบ่งชี้ในการก้าวเข้าสู่วัยทอง ส่วนผู้ชายวัยทองมักจะสะท้อนออกมาด้วยปัญหาสมรรถภาพทางเพศลดลง
อาการวัยทองของผู้หญิง และผู้ชายนั้นไม่แตกต่างกัน ช่วงอายุวัยทองอยู่ระหว่าง 48-52 ปี และอาการที่พบคือ เครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว นอนไม่หลับ มีกำลังลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด สมรรถภาพลดลง ส่วนลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดคือ กล้ามเนื้อลีบเล็ก อาการลงพุง เนื่องจากการเผาผลาญไขมันลดลง ผมบางลง เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับฮอร์โมนในผู้ชายลดลง คือ อายุซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ ส่วนปัจจัยเสริมอื่น ๆ ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพบ ความอ้วน การขาดสารอาหารบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จะเป็นตัวเร่งให้ฮอร์โมนในร่างกายหมดเร็วขึ้น
ส่วนวิธีการรักษา อาการที่เกิดกับผู้ชายวัยทองนั้น ในทางการแพทย์อันดับแรก คือ การรักษาทางจิตใจในบางราย การพูดคุยปรึกษาแพทย์เพียงอย่างเดียวก็สามารถฟื้นฟูภาวะดังกล่าวได้ แต่ในบางรายอาจต้องใช้ยาหรือฮอร์โมนเสริม ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ข้อแนะนำ คือ เมื่อสังเกตตนเองว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ ทั้งทางร่างกายและจิตใจดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทั่วไปก่อนว่ามีโรคที่อาจจะส่งผลให้เกิดอาการที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ หากไม่มีโรคใด ๆ จึงพบแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ได้แก่ สูตินรีแพทย์-ผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะให้คำปรึกษา และดูแลเรื่องการใช้ยา หรือวิธีรักษาร่วมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การรักษาย่อมไม่ดีไปกว่าการป้องกัน หรือการยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่มออกไปให้นานที่สุดด้วยหลักการทางธรรมชาติที่มีอยู่ ดังนี้
•ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย ด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ควรนอนแต่หัวค่ำ เพราะฮอร์โมนเพศชายจะถูกสร้างตอนกลางคืน
•งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อร่างกายในทุก ๆ ระบบ
•กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน
•ออกกำลังกายเป็นประจำ และลดความเครียด